ทำศิลปะเพื่อศิลปะแล้วลาภยศสรรเสริญเงินทองมันจะมาเอง 

“ตอนที่ผมเรียนอยู่ปี 1 ที่ศิลปากรฯ มีการบ้านชิ้นหนึ่งที่อาจารย์ชลูดสั่งให้นักศึกษาทำ เป็นงานที่ทำแค่ 1 ชิ้น แต่ผมทำทั้งหมด 100 ชิ้น ก็เลยส่งหมดเลย แล้วผมก็ได้คะแนนเต็ม 100!”

ในฐานะศิลปินที่ได้ทำตามจินตนาการ เดชา วราชุนอาจถือเป็นศิลปินวาดภาพแนวนามธรรมที่ทำงานในประเทศมายาวนานที่สุดก็ว่าได้ เดชาเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2488 ที่กรุงเทพ และสำเร็จการศึกษาปริญญาบัณฑิตและมหาบัณฑิตจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในปี 2550

เดชาไม่เคยคิดอยากเป็นศิลปินมาก่อน เขาแค่อยากใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ได้สร้างสรรค์และถ่ายทอดจินตนาการออกมาเป็นรูปธรรม การใช้ชีวิตตามความสุขสร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินอยากสร้างสรรค์ผลงานที่ใช้ตามองไม่เห็น ดังนั้นผลงานต่าง ๆ ของเดชาจึงไม่ได้อยู่ในรูปภาพพิมพ์อย่างเดียว แต่ยังปรากฎให้เห็นเป็นของใช้อื่น ๆ เช่น หมวก กระเป๋า เข็มขัด หรือแม้แต่บ้านที่เขาสร้างขึ้นเอง 

ผลงานแต่ละชิ้นของศิลปินมาจากกระบวนการใช้ “ความคิด” นำ ความคิดหรือภาพจินตนาการต่าง ๆ ที่อยู่ในหัวของเดชาจะถูกถ่ายทอดลงไปในกระดาษร่างก่อนขยายขอบเขตความคิดไปยังผืนผ้าใบ ผลงานของเดชาจึงไม่ใช่การโชว์ทักษะฝีแปรง แต่เป็นการนำสมองแต่ละส่วนมาทำหน้าที่ต่าง ๆ ทั้งสมองซีกขวา สมองซีกซ้าย ทั้งการใช้ตรรกะในการสร้างองค์ประกอบรองรับจินตนาการนั้น พูดอีกแง่หนึ่งได้ว่า งานของเดชาใช้จิตใต้สำนึกในการสร้างสรรค์ แต่ใช้สติสัมปชัญญะในการควบคุมอีกที

ปัจจุบันเดชา วราชุนเป็นครูวัยเกษียณที่ยังทำหน้าที่สอนอยู่ และใช้เวลาว่างในการส่งต่อความรู้และภูมิปัญญาให้กับนักศึกษา โดยมีเพียงสมุดเล่มหนึ่งไว้ใช้วาดรูปต่าง ๆ  ศิลปินเผยว่าสมุดบันทึกก็เปรียบเสมือนไดอารี่ ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน เดชาก็จะเก็บสมุดไว้ใกล้มือ และเปิดหาหน้าว่างแต่งแต้มภาพทิวทัศน์ต่าง ๆ หลายคนมาหาศิลปินเพื่อขอให้จัดแสดงผลงานแต่เดชากลับลังเล  เขาไม่ใช่คนชอบพูด แม้แกลเลอรี่หลายแห่งมาขอเสนอตัวเป็นตัวแทนให้แต่เดชากลับไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้เท่าไหร่นัก ในฐานะศิลปินที่ใช้ชีวิตโดยใช้ความสุขนำ เดชาไม่อยากผันตัวกลายเป็นพ่อค้าที่ต้องพิจารณาว่าใครเป็นผู้ซื้อผลงาน หรือใครเป็นผู้รับชม เขาเพียงแค่อยากให้ผลงานเป็นสิ่งสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินรุ่นใหม่และเป็นบทเรียนให้แก่ผู้ใฝ่รู้  คุณค่าของผลงานแต่ละชิ้นอยู่ที่การมองและความชอบของผู้ชมแต่ละคนมิได้อยู่ที่ป้ายราคา  อาจจะเป็นเพราะทัศนคตินี้เองที่ทำให้เดชาได้รับรางวัลรางวัลครูดีเด่นในประเทศไทยถึงสองครั้งในปี 2547 และ 2554

“พอได้มองผลงานที่ผมสร้างสรรค์มาตลอด 34 ปี ผมก็หวนนึกถึงบรรยากาศแวดล้อมในสมัยนั้น แต่ละชิ้นเป็นภาพสะท้อนของกาลเวลา แน่นอนว่าอาจจะไม่ใช่ภาพสะท้อนยุคสมัยนั้นตรง ๆ เพราะผมนำภาพลักษณ์ดังกล่าวมากลั่นกรองอีกชั้นในรูปแบบที่ผมมองว่าเป็นยุคสมัยนั้นจริง ๆ  องค์ประกอบและผิวสัมผัสของแต่ละชั้นของผลงานทุกชิ้นบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผม ผลงานทุกชิ้นเป็นความภูมิใจของผม”