Montien Boonma

Street Scene I and II โดย มณเฑียร บุญมา


มณเฑียร บุญมา (b. 1953, กรุงเทพฯ) เป็นศิลปินคนสำคัญที่รู้จักกันในวงกว้างในฐานะ ศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญที่ยังเป็นผู้บุกเบิกศิลปะร่วมสมัยของไทยร่วมกับศิลปินอีกหลายท่านในช่วงทศวรรษที่ 90 มณเฑียร ปูทางให้กับก้าวสำคัญของประวัติศาสตร์ศิลปะในไทย ในการมอบความหมายให้กับวัสดุ ด้วยแนวความคิดที่ผสมผสานกับเทคนิคอันแยบคาย ในการสร้างสรรค์ผลงาน ความล้ำสมัยของมณเฑียรเอง ยังดึงดูดบุคลากรทางศิลปะร่วมสมัยและสถาบันทางวัฒนธรรมจากต่างชาติ ให้เข้ามาในประเทศไทย เพื่อมองให้เห็นและทำความเข้าใจต่อแรงกระเพื่อมของ “ความร่วมสมัยไทย” อันเกิดจากศิลปินที่ชื่อว่า มณเฑียร บุญมา

พรสวรรค์ของ มณเฑียร ส่องสว่างเมื่อเขานำเสนอประเด็นคตินิยมทางจิตวิญญาณแบบตะวันออกผ่านรูปแบบภาษาสากลอย่างงานประติมากรรม หรือ ศิลปะจัดวาง เขาเข้าใจว่าขีดจำกัดทางประเพณีแบบตะวันออกนั้นเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำเสนอบริบทที่อยู่ภายในให้กับผู้คน “ภายนอก” ได้เริ่มเข้าใจด้วยการบรรจุผู้ชมเอาไว้ในพื้นที่ที่โอบล้อมเอาไว้ด้วยสัญลักษณ์แห่งความศรัทธา และ มณเฑียร ทำงานอยู่ในบริบทของขีดจำกัดทางประเพณีนี้อย่างแหลมคม

ผลงาน Street Scene I และ Street Scene II นี้ เป็นผลงานวาดเส้นอย่างง่าย ถูกสร้างขึ้นในปี 1969 ช่วงเวลาที่ มณเฑียร เองยังเป็นนักเรียนศิลปะ ราว 10 ปีก่อนที่เขาจะทะยานสู่จุดสูงสุดในอาชีพศิลปิน เส้นสายปากกาเคมีบนกระดาษที่ปรากฏในงานทั้งสองชิ้นนี้วาดขึ้นด้วยความมั่นใจ แม่นยำในทักษะและทัศนียวิทยา แม้ว่าจะเป็นผลงานเพื่อการค้นคว้าเรียนรู้ แต่มณเฑียรเป็นศิลปินที่เริ่มขยายความคิดและผลงานจากภาพลายเส้นบนกระดาษเสมอ และผลงานชิ้นสำคัญหลายชิ้นของเขายังคงรายละเอียดอยู่ในกระดาษที่รอวันสร้างขึ้นมาอีกครั้ง

ผลงานวาดเส้นอันเรียบง่ายทั้งสองชิ้นจึงเต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และยังเป็นหลักฐานถึงการมีอยู่ของมณเฑียร บุญมา เป็นส่วนประกอบที่ขาดหายไปเมื่อเราต้องการศึกษาเส้นทางความเป็นมาของศิลปินผู้นี้ และลายแทงความคิดก้าวล้ำของเขาเมื่อเทียบกับศิลปินรุ่นราวคราวเดียวกัน มณเฑียร บุญมา จึงเป็นและยังคงเป็นต้นแบบคนสำคัญสำหรับการศึกษา และแรงบันดาลใจสำหรับก้าวต่อไปของวงการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย