ปัญญา วิจินธนสาร

รูปทรงอิสระ


ศิลปิน : ปัญญา วิจินธนสาร
เทคนิค : สีอะครีลิคบนผ้าใบ
ปี : 2533
ขนาด : 120 x 150 ซม.

“ผลงานชิ้นนี้ ผมทำขึ้นเมื่อกลับจากวัดพุทธประทีบ กรุงลอนดอน เมื่อปี 2531 คือไปทำงานอยู่ที่นั่นนานประมาณ 3 ปีครึ่ง และจะเห็นได้ว่างานของผมเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากที่เป็นภาพเกี่ยวกับงานประเพณีไทย ก็เริ่มมีความร่วมสมัยมากขึ้น มีความคิดอยากจะลองทำงานในแนวนามธรรมมากขึ้น  ผลงานชิ้นนี้จะเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง ช่วงนั้นผมเห็นวิวัฒนาการของสังคมไทย โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสูง เปลี่ยนจากสังคมชนบทมาเป็นสังคมเมือง สังคมเกษตรเปลี่ยนมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม รูปทางด้านขวาจะแสดงสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่คล้ายยุ้งฉางข้าว ที่ต้องการสื่อความหมายถึงสังคมเกษตรกรรม ในขณะที่ทางด้านซ้ายมือจะเป็นรูปทรงแนวเรขาคณิตซึ่งต้องการทำขึ้นเพื่อล้อกันกับภาพยุ้งฉางข้าว โดยต้องการสื่อความหมายว่าเป็นสังคมอุตสาหกรรม ตรงกลางภาพที่เป็นสามเหลี่ยม จะมีภาพของธรรมชาติทั้งหลายอยู่ภายใน เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชนบท ขณะเดียวกันรูปทรงสามเหลี่ยมที่อยู่ในทรงพุ่งขึ้นไปนั้น จะต้องการสื่อถึงความสมัยใหม่ ด้านบนจะมีภาพ portrait ของพระที่กำลังแสดงท่าทางมองลงมา ซึ่งผมต้องการสื่อถึงสัญลักษณ์ให้เห็นถึงจริยธรรม สื่อว่าถ้าสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสังคมขาดจริยธรรม จะก่อให้เกิดปัญหาต่อการพัฒนาสังคมได้ จากรูปนี้ในเชิงศิลปะจะเป็นการใช้รูปทรงแบบ free-form (รูปทรงอิสระ) ที่เกิดขึ้นจากรอยแปรง (brush work) และรูปทรงเรขาคณิตที่แสดงถึงโครงสร้างที่อยู่นิ่งๆ ในขณะที่รูปทรงแบบ free-form จะดูเหมือนมีการเคลื่อนไหวไปมา จะดูเหมือนเป็นวัฏจักรที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปอยู่เสมอ”  ปัญญา วิจินธนสาร