ชาติชาย ปุยเปีย

เรามาจากไหน
เราคือใคร
เรากำลังไปไหน
ร้อยหนึ่งปีหลังจากกอแกงค์


ศิลปิน: ชาติชาย ปุยเปีย
เทคนิค: สีน้ำมันบนผ้าใบ
ปี: 2542
ขนาด: 200 x 510 เซนติเมตร

101 ปีหลังจากการสร้างสรรค์ผลงานระดับมาสเตอร์พีซของ ปอล โกแกง ในชื่อ Where Do We Come From? What Are We? Where Are We Going? (เรามาจากไหน เราเป็นใคร เราจะไปไหนต่อ) ชาติชาย ปุยเปีย ได้สรรสร้างงานชิ้นนี้ขึ้นมาใหม่ตามแบบฉบับของตัวเอง โดยเสร็จสมบูรณ์ทันเวลาพอดีสำหรับการจัดนิทรรศการเดี่ยวที่ตัวเขาเองทำท่าไม่อยากจัดเสียด้วยซ้ำ

สำหรับชาติชายเอง เขาน่าจะเป็นหนึ่งในศิลปินที่หาตัวยากที่สุด และน่าสนใจที่สุดคนหนึ่งในวงการศิลปะร่วมสมัยของกรุงเทพฯ โดยในฐานะศิลปินรายสำคัญคนหนึ่งในสายนี้ ผลงานของชาติชายไม่เพียงเป็นเหมือนหลักไมล์บันทึกเหตุการณ์ที่น่าจดจำในประวัติศาสตร์วงการศิลปะของไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของศิลปินคนหนึ่งที่แค่อยากเป็นตัวของตัวเอง ทำงานในแบบที่ตัวเองอยากทำเท่านั้น

ภาพเขียน Where Are We From? Who Are We? Where Are We Going? 101 years after Gaugain เป็นส่วนหนึ่งของผลงานชุดที่สร้างสรรค์ขึ้นในขณะที่ชาติชายกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนและแรงกดดันมากมายในชีวิต ทั้งจากปัญหาส่วนตัวและความคาดหวังจากภายนอกในด้านการสร้างผลงาน ในขณะนั้น ชาติชายตัดสินใจขอเวลาพักผ่อนชั่วขณะหนึ่งโดยไม่บอกใคร และออกเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาโดยมีนิวออร์ลีนส์เป็นจุดหมายปลายทางในใจ แต่ขณะที่กำลังรอต่อเครื่องอยู่ที่ซานฟรานซิสโกนั้น เขากลับเจอไดอารี่บันทึกเรื่องราวการเดินทางของปอล โกแกง เมื่อครั้งที่เขาออกเดินทางไปยังตาฮิติในปี 2434 เพื่อหลีกหนีจากค่านิยมเชิงจริยธรรมของสังคมยุโรปที่เขาเหนื่อยหน่ายด้วยเต็มที ชาติชายซื้อหนังสือเล่มนี้ติดตัวมาด้วย และถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ชื่นชมผลงานหรือรู้ประวัติของโกแกงมากเท่าไรนัก แต่เขากลับแปลกใจที่รู้สึกมีอารมณ์สอดคล้องไปกับเนื้อหาของไดอารี่เล่มนี้ หลังจากที่ได้พักผ่อนไปกับวัฒนธรรมและเสียงดนตรีของนิวออร์ลีนส์ไปไม่กี่วัน เรื่องราวและผลงานศิลปะของปอล โกแกง ขณะที่พักอาศัยอยู่ที่ตาฮิติ ก็แทรกซึมเข้าสู่ความนึกคิดของชาติชายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ชาติชายเดินทางกลับเมืองไทยด้วยความรู้สึกฮึกเฮิมและมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานเพื่อนำไปจัดแสดงในนิทรรศการเดี่ยวของเขาได้ทันท่วงที โดยนิทรรศการครั้งนั้นใช้ชื่อว่า “ระหว่างทางไปหาพระพุทธ พบโกแกงเดินสวนทางมา, ข้าฯ ลังเล” และจัดขึ้นที่หอศิลป์วิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2542 

ภาพเขียนชิ้นนี้เป็นการนำชิ้นงานเดิมมาประยุกต์ใหม่ หรืออาจพูดได้ว่าเป็นการถอดเนื้อความทางทัศนศิลป์แล้วนำมาแปลงใหม่ให้ตรงกับเนื้อหาทางประวัติศาสตร์เชิงศิลปะของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ทั่วทั้งเฟรมภาพ หรือการที่มีชื่อภาพเขียนตรงมุมบนซ้ายมือ

ในผลงานชิ้นดั้งเดิมนั้น ปอล โกแกง ได้สื่อถึงวงเวียนชีวิตที่มีผู้หญิงชาวตาฮิติและสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมอื่นๆ เข้ามาสอดแทรก โดยตั้งใจให้ผู้ชมตีความจากซ้ายไปขวาเหมือนการอ่านหนังสือ ชาติชายเองยังคงยึดหลักการนี้ในชิ้นงานของเขา โดยภายในภาพมีงานศิลปะที่ได้รับรางวัลในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ เช่นประติมากรรมภาพเหมือนของศิลป์ พีระศรีและ ขลุ่ยทิพย์ ของเขียน ยิ้มศิริ พร้อมด้วยผลงานจากฝีมือศิลปินแห่งชาติอีกหลายชิ้นอยู่ในภาพด้วย ทางด้านขวาล่าง มีศิรษะของชาติชายที่ตามองไปในความว่างเปล่า ที่กำลังตั้งคำถามว่า “Where are we from? Who are we? Where are we going?