จากเด็กหนุ่มที่โดนจับกุมข้อหาทำลายทรัพย์สินสาธารณะ กลายเป็นศิลปินที่ได้รับเชิญให้มาวาดภาพชิ้นใหญ่ที่สุดในชีวิต บนผนังของหอศิลป์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ

อเล็กซ์ เฟซ น่าจะเป็นศิลปินกราฟฟิตี้ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในเมืองไทย โดยปัจจุบันในวัย 38 ปี (ที่ยังหนุ่ม) เขาได้เดินทางมาไกลลิบ จากอดีตที่เคยต้องวิ่งหนีเอาตัวรอดเพราะวาดภาพบนกำแพงสาธารณะ จนมาถึงวันนี้ที่ได้รับเชิญให้ไปพ่นสีบนอาคารและกำแพงหลายแห่งทั่วโลก

หลังจากเรียนจบจากคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อเล็กซ์หันไปใช้เวลาขายภาพเขียนที่ตลาดนัดจัตุจักรช่วงกลางวันก่อนจะออกไปลุยพ่นสีบนกำแพงในยามค่ำคืน

เขาเล่าให้เราว่า ครั้งหนึ่งสมัยที่ยังเป็นนักศึกษาปี 4 เขาเกือบจะต้องปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน. ลาดกระบัง

“ผมกะว่าจะวาดภาพชิ้นใหญ่บนกำแพงกับเพื่อน 4-5 คน เราไปเลือกกำแพงที่ไม่มีใครใช้แล้วเอาไว้ แตกร้าวไปหมด แถมยังไปตั้งอยู่ในที่ที่แทบจะเป็นที่ทิ้งขยะอยู่แล้ว เราเริ่มลงมือทำงานกัน จนพอมาถึงวันที่ 3 มีเจ้าหน้าที่เขตมานำตัวพวกเราทั้งกลุ่มไปสอบถามข้อมูล เราไม่ได้ถูกจับนะครับ แต่มาถึงขั้นนี้แล้ว ที่มหาลัยก็มีข่าวลือออกไปเรียบร้อยว่าผมถูกจับเพราะไปพ่นสีกำแพง ตอนเราอยู่ที่ สน. เขาก็ถามเราว่าทำอะไรกันอยู่ ทำทำไม ผมก็เลยถามย้อนกลับไปว่าถ้ากำแพงตรงนั้นควรจะต้องถูกปกป้องจากการทำลาย แล้วทำไมคุณไม่ไปซ่อมกำแพงให้มันเป็นกำแพงจริงๆ ล่ะ ไปปล่อยให้เป็นซากอยู่ทำไม หลังจากที่เถียงกันไปกันมาพักใหญ่ สุดท้ายเขาก็ยอมฟังเหตุผลจากมุมมองด้านศิลปะของผม จนบอกว่าถ้าผมอยากทำงานตรงนั้นจริงๆ ก็ควรจะยื่นเอกสารเสนอทำโครงการแบบจริงจัง ให้มหาลัยร่วมลงชื่อไปเลย ผมก็ทำจริงๆ นะครับ สุดท้ายแล้ว แล้วก็กลับไปทำงานชิ้นนั้นต่อด้วย แต่สุดท้ายผมก็โดนจับอยู่ดี คราวนี้เป็นตำรวจเลย”

เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อเล็กซ์คิดได้ว่าการจะสร้างงานจิตรกรรมฝาผนังที่น่าจดจำและสมเหตุสมผล งานชิ้นนั้นก็จะต้องมีรูปแบบของผลงานที่ชักชวนให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องราวที่บอกเล่าอยู่บนฝาผนัง ไม่ต่างจากภาพเขียนชั้นดี แทนที่จะแค่ไปพ่นชื่อหรือหน้าใครซักคนทั่วเมืองเพียงเพื่อประกาศศักดา เขายังเชื่ออีกว่าการมีชิ้นงานศิลปะขนาดใหญ่แสดงอยู่ในที่สาธารณะ เปิดให้ผู้ชมจำนวนมากได้สัมผัสอย่างเปิดกว้าง ไม่ปิดกั้น จะทำให้เนื้อหาที่เขาต้องการสื่อสามารถเข้าถึงคนได้เป็นจำนวนมากขึ้น

นับจากวันนั้น จนมาถึงวันที่อเล็กซ์ได้รับคำเชิญให้ไปวาดรูปบนกำแพงนอกอาคารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของผลงานจิตรกรรมฝาผนังอันแสดงความอาลัยต่อการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2560 เขาก็ผ่านอะไรมามากมายจนมีเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงจากวันนั้นถึงวันนี้

“มีอยู่วันหนึ่งที่ผมออกไปตระเวนพ่นสีตามปกติ ผมมาหยุดทำงานที่กำแพงหนึ่ง จนมีแก๊งมอเตอร์ไซค์วัยรุ่นมาจอดรถดู เขาถามผมกันใหญ่เลยว่ารู้จักแก๊งเขามั้ย วาดอะไรเกี่ยวกับแก๊งเขาได้มั้ย ผมไม่รู้ว่าเขาอยากได้อะไร ก็เลยถามทีเล่นทีจริงกลับไปว่า ลองเอากระดาษมาวาดให้ดูหน่อยสิ พวกเขาวาดรูปกันไม่เป็นสักคน ผมก็เลยพ่นรูปกะโหลกลงบนหมวกกันน็อกใบนึงของพวกเขา ทีนี้เขาทึ่งเลยครับ เขาชอบภาพกราฟฟิตี้เล็กๆ อันนี้มากๆ จนถึงขนาดอาสาไปซื้อสีมาให้ผม ไปหาน้ำหาข้าวมาให้ แถมยังมานั่งเล่นกับผมและเพื่อนๆ ด้วย เราผูกพันกันแทบจะทันทีในแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยในการเข้าสังคม ซึ่งความผูกพันตรงนี้แหละ คือสิ่งที่ผมมองว่ามีค่าที่สุด ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเป็นใครก็ตาม อาจจะเป็นแก๊งเจ้าถิ่น หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่จากสถาบันด้านศิลปะ ผมให้ค่ากับความผูกพันกันระหว่างมนุษย์แต่ละคน ไม่ใช่ขนาดของภาพที่ผมได้ทำ หรือตัวอาคารที่ผมได้พ่น”