ทวี นันทขว้าง

การซ่อมภาพ “Temple” ของอาจารย์ทวี นันทขว้าง


ศิลปิน : ทวี นันทขว้าง
เทคนิค : สีน้ำมันบนไม้อัด
ปี : 1958
ขนาด : 122 x 180 ซม.

เมื่อประมาณ 50 ปีก่อน ภาพ “Temple” ของอาจารย์ทวี นันทขว้างถูกทำลายโดยผู้บุกรุกกลุ่มหนึ่งที่หยิบภาพที่แขวนบนกำแพงห้องทำงานของศิลปินออกมาหักทำลายออกเป็นสองส่วน ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ทวีไม่เคยย่ำกรายเข้าไปในห้องทำงานของตนอีกเลย

“เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พ่อหัวใจแตกสลาย” คุณเมนาท นันทขว้าง ลูกสาวของศิลปินกล่าว

ผลงาน “Temple” หรือถ้าแปลเป็นภาษาไทยคือ “วัด” เป็นภาพวาดจำลองวัดโพธิ์หรือวัดพระนอน มีประตูหลังบานใหญ่เปิดกว้างไปสู่อารามศักดิ์สิทธิ์ภายใน ภายในภาพจะเห็นพระสองรูปกำลังเดินหันหน้าเข้าหากัน รูปหนึ่งกำลังเดินออกจากวัด อีกรูปหนึ่งกำลังเดินเข้าวัด ผู้ชมจะเห็นพระที่กำลังเดินเข้าวัดจากทางด้านหลัง โดยข้าง ๆ พระรูปนั้น มีผลไม้และดอกบัวที่มีผู้นำมาถวายวางตั้งไว้ เรายังเห็นรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ภายนอกกำแพงวัด ไม่ว่าจะเป็นฝาท่อที่เปิดวางพิงบนขอบถนน หรือป้ายประกาศ 2 ใบที่ติดหมิ่นเหม่บนเสานอกวัด ในทางกลับกัน พระอีกรูปกำลังเดินเท้ามุ่งหน้ามาหาพระที่ยืนอยู่ภายนอกโดยเดินเท้าออกมาจากภายในวัดเสมือนเป็นภาพสะท้อนของกันและกัน ลักษณะบรรยากาศของวัดที่ทวีวาดให้ดูสมจริงเช่นนี้ เป็นการสะท้อนความสงบภายในอารามวัดศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกคุ้มครองโดยคำสอนของพระพุทธเจ้า ผิดไปจากความชุลมุนยุ่งเหยิงภายนอกกำแพงวัด โดยมีประตูวัดเป็นตัวเชื่อมโลกทั้งสองใบไว้ด้วยกัน ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานหายากของทวีเนื่องจากสร้างขึ้นสมัยที่ศิลปินเพิ่งเริ่มทำงานใหม่ ๆ และยังใช้สีพาสเทลที่ให้ความรู้สึกสงบเงียบ

ภาพ “Temple” สูญหายไปกว่า 30 ปี จนกระทั่งคุณเมนาทได้รับภาพคืนจากนิพนธ์ ผริตะโกมล ศิลปินและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร นิพนธ์คือผู้ที่ช่วยเก็บรักษาผลงานชิ้นนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ผลงานชิ้นนี้อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมและจำเป็นต้องซ่อมแซมทันที นักซ่อมภาพพบว่าผลงานของทวีมีร่องรอยแตก หลุดร่อนหลายจุด  ด้วยความที่ภาพชิ้นนี้เคยได้รับการซ่อมแซมมาแล้วครั้งหนึ่ง ทำให้นักซ่อมภาพจำเป็นต้องใช้กาวอะคริลิกมาทาเพื่อผนึกชั้นสีให้คงอยู่กับที่ จากนั้นจึงค่อย ๆ ใช้น้ำและแอลกอฮอล์ซับแต่ละจุด เทคนิคนี้ช่วยให้กาวอะคริลิกซึมเข้าไปในชั้นที่มีการลงสีจริง โดยน้ำและแอลกอฮอล์ทำหน้าที่เป็นสารสื่อกลางระหว่างผลงานกับอะคริลิก

ขั้นตอนต่อไปคือการลอกสีส่วนเกินจากการซ่อมครั้งก่อน โดยใช้ตัวทำละลายที่ปรับให้เหมาะสมกับผลงาน

ส่วนบริเวณที่เป็นรูเสียหาย ช่างซ่อมจะนำวัสดุมาอุดและเติมสีและลายเส้นให้ละม้ายคล้ายคลึงกับฝีแปรงของอาจารย์ทวีให้มากที่สุด ก่อนเก็บผลงานด้วยการทาน้ำมันเคลือบเงาบนพื้นผิวอีกหนึ่งชั้น

กระบวนการซ่อมนี้ใช้เวลาทั้งหมด 1 ปี และผลลัพธ์ที่ได้ออกมาดีเยี่ยมดังที่เห็น