เขียน ยิ้มศิริ

“ขลุ่ยทิพย์”


ศิลปิน: เขียน ยิ้มศิริ
เทคนิค: ประติมากรรมทองสัมฤทธิ์
ปี: 2492
ขนาด: 56 x 36 x 38 ซม.

ผลงานประติมากรรม “ขลุ่ยทิพย์” ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๑ เหรียญทอง จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2492 ขณะที่ศิลปินอายุเพียง 27 ปี  ปัจจุบันผลงานชิ้นนี้ได้รับยกย่องเป็นหนึ่งในประติมากรรมไทยสมัยใหม่ที่งดงามที่สุด  ผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้คือ เขียน ยิ้มศิริ ศิลปินสายเลือดกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เขียนสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนประณีตศิลปกรรมหรือที่รู้จักกันภายหลังในชื่อมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี พ.ศ. 2484  เขียนคือนักเรียนรุ่นแรก ๆ ที่ได้เรียนศิลปะโดยตรงกับอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี บุคคลสำคัญผู้สร้างบันดาลใจและช่วยปูแนวทางการพัฒนาศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย

ผลงาน “ขลุ่ยทิพย์” แตกต่างจากประติมากรรมชิ้นอื่น ๆ ที่รูปทรงอ่อนช้อยงดงาม  ทองสัมฤทธิ์ที่นำมาใช้สร้างสรรค์ผลงาน ดูละม้ายคล้ายกับเคลื่อนไหวไปตามจังหวะเพลงที่เด็กหนุ่มกำลังขับกล่อมอยู่  ลักษณะการวางตัวของเด็กหนุ่มที่เอียงไปด้านหลังคล้ายกับกำลังสูดลมหายใจใหม่ก่อนบรรเลงเพลงต่อ ลำคอที่เอียงไปด้านหน้าอย่างอ่อนช้อยสอดรับการจรดริมฝีปากเข้ากับขลุ่ยในมือเป็นอย่างดี  รายละเอียดต่าง ๆ ในผลงานสะท้อนให้เห็นทักษะชั้นครูของผู้ปั้นในการเสกสร้างประติมากรรมที่เป็นวัสดุแข็งให้ออกมาดูอ่อนช้อยโลดแล่นราวกับมีชีวิตจริง  รายละเอียดหลายจุดบนผลงานสะท้อนให้เห็นความสุขของเด็กหนุ่ม ไม่ว่าจะเป็นปลายนิ้วชี้ที่กระดกขึ้นเล็กน้อยก่อนก่อนจรดลำขลุ่ย หรือการเอียงสะโพกขึ้นตามจังหวะเสียงเพลง นิ้วเท้าป้อมอ้วนที่กระดกขึ้นเพื่อช่วงพยุงตัวให้ตั้งตรง

ลักษณะขาแขนที่ยาวอ่อนช้อยเป็นภาพสะท้อนของประติมากรรมพระพุทธรูปในสมัยสุโขทัย (ปี พ.ศ. 1781 – 1981) และเป็นแรงบันดาลใจของศิลปินนักวิชาการท่านนี้ ศิลปินได้เรียนรู้องค์ประกอบศิลป์ตามแบบฉบับตะวันตกครั้งไปศึกษาต่อต่างประเทศกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรีที่อังกฤษและอิตาลีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494-2497

ด้วยเหตุนี้เอง “ขลุ่ยทิพย์” จึงเป็นสัญลักษณ์แทนอัตลักษณ์คนไทยในสมัยนั้น สะท้อนความสุขเรียบง่ายของชีวิตผ่านการเต้นและการขับกล่อมเสียงเพลง นอกจากนี้ผลงานชิ้นนี้ยังสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมไทยอื่นๆ เช่น ทรงผมเรียบง่ายแบบไทยโบราณและการนุ่งโสร่งลำลอง