วิชญ มุกดามณี

การเอียงพิงกัน และ เบ่งบาน เติบโต


ศิลปิน : วิชญ มุกดามณี
เทคนิค : ภาพเขียน
ปี : 2561
ขนาด : 90 x 120ซม.

ผลงานจิตรกรรม Leaning และ Flourish ทำขึ้นในปี พ.ศ. 2561 เพื่อจัดแสดงในนิทรรศการ “บทสนทนาของพ่อกับลูก : Dialogue of Father and Son” โดยศิลปินสองคนคือวิชญ มุกดามณีและคุณพ่อ ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี จัดแสดงที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งแนวความคิดหลักที่วางแผนไว้ล่วงหน้าเกือบสองปีก่อนจัดแสดงคือการบอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินสองคนที่เป็นพ่อ-ลูกกัน การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การพูดคุย การแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์โดยใช้ผลงานศิลปะเป็นสื่อกลาง 

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณพ่อเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ชักนำเส้นทางชีวิตของผมให้หันเหสู่ศิลปะ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการใช้ชีวิตร่วมกันตลอดระยะเวลา 35 ปี หรือพันธุกรรม  DNA ที่ส่งต่อถึงกัน ทำให้เกิดการซึมซับและเรียนรู้ทั้งโดยไม่ตั้งใจและตั้งใจ แต่คงเป็นธรรมชาติของลูกหลายๆ คนที่กำลังเดินตามรอยเท้าคนในครอบครัวที่จะพยายามหลีกเลี่ยงถอยห่างจากอิทธิพลใกล้ตัวและดึงดันที่จะค้นหาแนวทางของตัวเองให้ได้มากที่สุด …ลูกๆ บางคนทำสำเร็จ แต่สำหรับผม เมื่อมองย้อนไปดู กลับพบว่ายิ่งพยายามวิ่งหนีกลับยิ่งพบความสัมพันธ์ที่แนบชิด ยิ่งพยายามทำให้แตกต่างกลับยิ่งพบความคล้ายคลึง … นิทรรศการ “บทสนทนาของพ่อกับลูก : Dialogue of Father and Son” เป็นครั้งแรกในการทำงานศิลปะของผมที่เลิกแสวงหาความแตกต่างระหว่างการทำงานของเราสองคนพ่อลูก แล้วเลือกโอบกอดงานศิลปะและการทำงานของคุณพ่อในฐานะแรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุดในชีวิต” 

“ผมย้อนกลับไปดูผลงานจิตรกรรมของคุณพ่อในช่วงปี พ.ศ. 2517 – 2527 ที่บอกเล่า “รูปทรงใหม่ของสิ่งมีชีวิต” สอดแทรกวิธีคิดและความเชื่อเรื่องสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงอันเป็นนิจจัง ใช้ฝีแปรงเพื่อถ่ายทอดความแตกต่างระหว่างความสมบูรณ์และความเสื่อมสลาย ความเจริญงอกงามและความผุพัง ใช้สีสเปรย์และธรรมชาติของน้ำและน้ำมันในเนื้อสี เพื่อก่อให้เกิดพื้นผิวอันเป็นอิสระ รูปทรงของสิ่งมีชีวิตคล้ายกับถูกฉีกทึ้งและคลี่ออกแปรเปลี่ยนฉวัดเฉวียน ยกตัวอย่างเช่น ผลงานชื่อ สภาวะใหม่ – New State (240 x 240 ซม.) ได้รับรางวัลที่ 2 เหรียญเงิน สาขาจิตรกรรม จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 30 พ.ศ. 2527 และผลงานชื่อใต้จิตสำนึก – Subconscious (150 x 120 ซม.)  ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการแสดงศิลปกรรมบัวหลวงของธนาคารกรุงเทพ สาขาจิตรกรรมร่วมสมัย พ.ศ. 2527 เป็นต้น” 

“ผลงานจิตรกรรม Leaning และ Flourish คือการพยายามทำความเข้าใจฝีแปรงในงานจิตรกรรมของคุณพ่อ ผมใช้วิธีการซูมเข้าไปใกล้เพื่อเพ่งพินิจในรายละเอียด ตัดเนื้อหาเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตออก แล้วเลือกนำเสนอแต่เฉพาะ “อิริยาบท” “จังหวะ” “ความสัมพันธ์” และ “สภาวะนามธรรม” ของจุด เส้น สี น้ำหนัก และพื้นผิว ชื่อผลงาน Leaning (การเอียงพิงกัน) และ Flourish (เบ่งบาน เติบโต) ไม่ได้เป็นการเปรียบเทียบกับเรื่องราวจากธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม แต่เป็นการวิเคราะห์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังจากการทำงานศิลปะแต่ละชิ้น เป็นเบาะแสเล็กๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตภายในงานศิลปะ เติบโตและเบ่งบานด้วยตัวเอง”